คณะบริหารธุรกิจ

พระประวัติ

พระประวัติ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ ๒๘ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาโหมดประสูติเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ ณ พระบรมมหาราชวัง พระนามเดิม พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงมีพระขนิษฐาและพระอนุชาร่วมพระมารดาเดียวกัน ๒ พระองค์ ได้แก่ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงอรองค์อรรคยุพา และพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธุ์ กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส

ทรงรับการศึกษาเบื้องต้นในพระบรมมหาราชวังโดยมีพระศรีสุนทรโวหาร พระยาอิศรพันธ์ โสภณ (หม่อมราชวงศ์หนู อิศรางกูร) เป็นพระอาจารย์ และนายโรเบิรด์ โมแรนท์ เป็นพระอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ ภายหลังทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนราชกุมาร ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ

หลังจากนั้น ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ ทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ และทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ ทรงสอบผ่านหลักสูตรชั้นสูงสุดของโรงเรียนนายเรืออังกฤษ จากนั้นจึงเสด็จนิวัติสู่สยาม ใน พ.ศ. ๒๔๔๓ ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงพระยศนายเรือโท และทรงเสกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงทิพย์สัมพันธ์ (หม่อมเจ้าหญิงทิพย์สัมพันธวงษ์) พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

พ.ศ. ๒๔๔๗ ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม โดยระหว่างทรงรับราชการในกองทัพเรือ ทรงดำรงตำแหน่งสำคัญ ได้แก่ เสนาธิการทหารเรือ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ตามลำดับ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์สิงหนาม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง พลเรือเอก เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๖

ต่อมาเมื่อประชวรพระโรคจึงกราบบังคมทูลลาออกจากราชการ และเสด็จไปประทับที่ชายทะเลหาดทรายรี ทางใต้ของปากน้ำเมืองชุมพร

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคไข้หวัดใหญ่ เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๖๖ ขณะทรงมีพระชนมายุ ๔๒ พรรษา

พ.ศ. ๒๔๔๓

  •   ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือจากประเทศอังกฤษ
  •  ทรงรับราชการที่ยศนายเรือโทผู้บังคับการ ตำแหน่งนายธงของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ     กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม (ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ)
  •  ทรงริเริ่มกำหนดแบบสัญญาณสองมือและโคมไฟ การฝึกพลอาณัติสัญญาณ  (ทัศน สัญญาณ)

พ.ศ.๒๔๔๕

  •  ทรงจัดตั้งหน่วยฝึกพลทหารที่บางพระ จังหวัดชลบุรี
  •  ทรงจัดระเบียบราชการกรมทหารเรือ

พ.ศ. ๒๔๔๘

  •  ทรงริเริ่มจัดทำโครงการป้องกันประเทศทางทะเล และทรงปรับปรุงกิจการทหารเรือ    สยามให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล
  •  ทรงขอพระราชทานที่ดินเพื่อการจัดตั้งโรงเรียนนายเรือที่พระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี ทรงฝึกสอนทหารเรือด้วยพระองค์เองและทรงปรับปรุงหลักสูตรโรงเรียนนายเรือ

พ.ศ. ๒๔๔๙

  •  ทรงนำนักเรียนนายเรือทั้งหมดไปฝึกหัดทางทะเล บริเวณภาคตะวันออกของอ่าวไทยจนถึงจังหวัดจันทบุรี

พ.ศ. ๒๔๕๐

  •  ทรงนำนักเรียนนายเรือและนักเรียนนายช่างกลไปฝึกทางทะเล นำเรือไทยบังคับการโดยคนไทยไปถึงต่างแดน เช่น สิงคโปร์ ปัตตาเวีย ชวา และเกาะบิลลิตัน (ประเทศฟิลิปปินส์) ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก

พ.ศ. ๒๔๖๐

  •   ทรงดำรงตำแหน่งนายพลเรือโท เสนาธิการทหารเรือ

พ.ศ. ๒๔๖๑

  •   ทรงดำรงตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ
  •   ประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๑
  •   ทรงดำริให้มีการสร้างฐานทัพเรือที่สัตหีบ จังหวัดชลบุรี การจัดตั้งกองกำลังอากาศนาวี ซึ่งชาวนักบินนาวีถือว่า ทรงเป็นพระบิดาแห่งการบินนาวี
  •   ทรงทำหน้าที่ข้าหลวงพิเศษดำเนินการสรรหาซื้อเรือรบ ณ ประเทศอังกฤษ ทรงนำเรือรบที่จัดซื้อนั้นเดินทางกลับถึงประเทศ และเข้าประจำการในกองทัพเรือชื่อ เรือหลวงพระร่วง เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๓

พ.ศ.๒๔๖๓

  •  ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหลวงและทรงได้รับพระราชทานยศพลเรือเอก

พ.ศ.๒๔๖๖

  •  ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ
  •  ทรงลาออกจากราชการเสด็จไปประทับ ณ ชายทะเลหาดทรายรี จังหวัดชุมพร จนถึงช่วงปลายแห่งพระชนม์ชีพ