คณะบริหารธุรกิจ

เรือนหมอพร

เรือนหมอพร

“เรือนหมอพร” หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่เหลืออยู่ให้ลูกหลานได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ…เสด็จเตี่ย

“เรือนหมอพร” ตั้งอยู่ภายในสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพณิชยการพระนคร หรือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พณิชยการพระนครในปัจจุบัน เรือนหลังนี้เจ้าของเรือนเดิมคือ หม่อมเมี้ยน อาภากร ณ อยุธยา พระชายาในกรมหลวงชุมพรฯ มีลักษณะเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น เป็นศิลปกรรมแบบ นีโอ–คลาสสิก (Neo-Classic) แต่ได้ดัดแปลงให้เข้ากับภูมิอากาศใน เขตร้อน ด้วยการสร้างเป็นเรือนไม้ เรือนลักษณะนี้เริ่มแพร่หลายเข้า มาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นที่นิยมสร้างกันในหมู่คหบดี ขุนนาง และชนชั้นกลางทั่วไป

พ.ศ. ๒๔๙๗

  • กรมอาชีวศึกษาได้ขอซื้อที่ดินพร้อมบ้านเรือนไม้สองชั้นสองหลังจากหม่อมเมี้ยน อาภากร ณ อยุธยา และหม่อมเจ้ารุจยากร อาภากร ณ อยุธยา ปัจจุบันเหลือเพียงเรือนแห่งนี้เพียงหลังเดียว เพื่อขยายอาณาเขตของโรงเรียนพณิชยการพระนครในขณะนั้น เรือนหลังนี้จึงตกอยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พณิชยการพระนคร มาจนถึงทุกวันนี้ เรือนหลังนี้ แต่เดิมใช้เป็นที่ทำการของร้านสหกรณ์ ซึ่งเรียกว่า “ร้านฝึกการค้า” ดำเนินการโดยนักเรียน ชั้นบนเป็นที่เก็บสินค้า ส่วนชั้นล่างเป็นที่ทำการค้า เ

พ.ศ. ๒๕๑๙

  • เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาเสด็จฯ  ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดพระอนุสาวรีย์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้มีรับสั่งถามว่า “ยังมีสิ่งใดที่ในสมัยเป็นวังหลงเหลืออยู่บ้าง” ศาสตราจารย์ธรรมนูญ อัคคพานิช ผู้อำนวยการในขณะนั้นได้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า “ยังมีเรือนหลังหนึ่งอยู่” มีพระราช กระแสว่า “ให้อนุรักษ์ไว้”

พ.ศ. ๒๕๒๐

  • นางอินทิรา ช่วงสุวณิช  ผู้อำนวยการในขณะนั้น ได้บูรณะซ่อมแซมเรือนไม้นั้น เพื่อใช้เป็นเรือนพยาบาลของวิทยาลัย และได้ตั้งชื่อว่า “เรือนหมอพร” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

พ.ศ. ๒๕๒๒

  • พิธีเปิดอาคารเรือนหมอพร โดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดเบญจมบพิตร เป็นประธานในพิธี เหตุที่ชื่อเรือนหมอพรนั้น มาจากพระนามของกรมหลวงชุมพรฯ ในบทบาทของหมอผู้รักษาคนไข้          ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๕๔-๒๔๖๐ พระองค์ได้กราบบังคมทูลลาออกจากราชการ และทรงสนพระทัยศึกษาในวิชาการแพทย์แผนโบราณจากตำราไทยและจากแพทย์ชาวต่างชาติ ทรงเขียนตำรายาแผนโบราณลงในสมุดข่อยและทรงตั้งชื่อตำรายาแผนไทยสมุดข่อยเล่มนี้ว่า “พระคัมภีร์ อติสาระวรรค    โบราณะกรรม และ ปัจจุบันนะกรรม” ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ จ.สมุทรปราการ

พ.ศ. ๒๕๔๒

  • นายบรรจง อภิรติกุล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีฝ่ายกิจการทั่วไปและรักษาราชการและรักษาราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาเขตฯ ได้ริเริ่มให้มีการบูรณะอาคารนี้ เพื่อเป็นศูนย์วัฒนธรรม วิทยาเขตพณิชยการพระนคร สถาบันราชมงคลเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจริญพระชนมายุครบ ๖ รอบ และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๒ โดยศาสตราจารย์ ดร.อำพน เสนาณรงค์ องคมนตรีเป็นประธานในพิธี

พ.ศ. ๒๕๕๑

  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครจัดสร้างอาคารอเนกประสงค์เพื่อใช้ในการกิจการของสถาบัน และดำเนินการบูรณะซ่อมแซมอาคารศูนย์วัฒนธรรมวิทยาเขตพณิชยการพระนคร สถาบันราชมงคลเฉลิมพระเกียรติ (เรือนหมอพร) โดยได้มีการแก้ไขปัญหาอาคารโดนบดบัง ด้วยการเคลื่อนเรือนทั้งหลังไปตั้งในสถานที่ใหม่ ห่างจากตำแหน่งเดิมประมาณ ๗๘ เมตร ตัวอาคารยังคงตั้งหันหน้าไปทางทิศเดิม ยกฐานสูงจากพื้นประมาณ ๑ เมตร พร้อมทั้งมีโครงการปรับภูมิทัศน์โดยรอบ

 

ที่มา : บรรณานุกรม

กมล โพธิเย็น และคณะ (บรรณาธิการ).ศูนย์วัฒนธรรม วิทยาเขตพณิชยการพระนคร สถาบันราชมงคลเฉลิมพระเกียรติ (กรุงเทพ : โรงพิมพ์ทวีการพิมพ์, ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์)

กรีฑา พรรธนะแพทย์,พลเรือตรี และคณะ. พระบิดากองทัพเรือไทย (กรุงเทพมหานคร : กองโรงพิมพ์ กรมสารบรรณทหารเรือ,๒๕๔๒).

นวรัตน์ เลขะกุล. ชีวิตและผลงานทูลกระหม่อมบริพัตร (กรุงเทพมหานคร : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิซซิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๔๔).

เริงจิตรแจรง, หม่อมเจ้าหญิง และคณะ. อนุสรณ์ท่านหญิงเริง (กรุงเทพมหานคร : กองโรงพิมพ์ กรมสารบรรณทหารเรือ, ๒๕๓๗)

ศิลปากร. กรม. จดหมายเหตุเรื่องเซอเซมสบรุกเข้ามาขอทำสัญญาในรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓ พิมพ์ในการพระราชทางเพลิงศพ พระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ณ เมรุท้องสนามหลวง เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๖  (พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพพรรฒนากร ๒๔๖๖)

           .ราชสกุลวงศ์ (พิมพ์ครั้งที่ ๘ แก้ไขเพิ่มเติม) (พระนคร: โรงพิมพ์จันทร์, ๒๕๑๒)

           .กรุงเทพฯ ๒๔๔๙ – ๒๕๓๙ (กรุงเทพมหานคร :บริษัท เอ พี กราฟิกดีไซน์และการพิมพ์ จำกัด, ๒๕๓๙).

           .พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ชุมพร  (กรุงเทพมหานคร : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิซซิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๔๒).